ประวัติศาสตร์ภาษาและวัฒนธรรมประเทศเซาตูเมและปรินซิปี
ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกสและแรงงานทาสจากแอฟริกาจำนวนมากได้เปลี่ยนให้เกาะเซาตูเมกลายเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลทขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของทวีปแอฟริกา และได้กลายมาเป็นแหล่งซื้อขายแรงงานทาสที่สำคัญแห่งหนึ่งของแอฟริกา ในศตวรรษที่ 16
ในช่วงศตวรรษที่ 18 เซาตูเมเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ของโลก โดยมีกาแฟและโกโก้ได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ต่อมา ในปี 2494 (ค.ศ. 1951) เซาตูเมได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งในการปกครองของโปรตุเกส และในปี 2503 (ค.ศ. 1960) ได้มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมชาติเพื่อเรียกร้องเอกราช หรือ Movement for the Liberation of Sao Tome and Principe (MLSTP)
ในปี 2517 (ค.ศ. 1974) เกิดการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลเผด็จการของซัลลาซาร์และซิตาโนในโปรตุเกส รัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาปกครองประเทศเริ่มดำเนินนโยบายปลดปล่อยประเทศในอาณานิคม โดยได้ร่วมเจรจากับกลุ่ม MLSTP จนนำไปสู่การส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนให้แก่เซาตูเมและปรินซิปี ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ. 1975) โดยมีนายมานูเอล ปรินโต คอสตา (Manuel Printo da Costa) เลขาธิการของกลุ่ม MLSTP ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนายมิเกล โทรโวดา (Miguel Trovoada) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปกครองตามระบอบสังคมนิยมและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ
ในปี 2521-2522 รัฐบาลได้รับการสนับสนุนทางทหารจากแองโกลาในความพยายามปราบปรามการก่อรัฐประหาร จนในปี 2522 นายโทรโวดาถูกจับกุมตัวโดยอ้างข้อหามีส่วนพัวพันในความพยายามก่อรัฐประหาร ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวและเนรเทศออกนอกประเทศในปี 2524
ในช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำในทศวรษที่ 80 รัฐบาลเซาตูเมและปรินซิปีเริ่มถอยห่างจากประเทศคอมมิวนิสต์ ก่อนจะประกาศตนเองเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและหันไปหาการสนับสนุนทางด้านการเงินจากชาติตะวันตกเพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ
ปี 2531 มีการทำรัฐประหาร อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2533 ซึ่งนำไปสู่ระบบการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค และจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้ที่ 2 วาระ วาระละ 5 ปี ในปีเดียวกัน นายโทรโวดากลับเข้าประเทศ
ปี 2534 มีการจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคขึ้นเป็นครั้งแรก พรรค MLSTP-PSD (Movement for the Liberation of Sao Tome and Principe - Partido Social Democrata ซึ่งผันตัวมาจากกลุ่ม MLSTP เดิม) แพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรค PCD-GR (Partido da Convergencia Democratica - Grupo de Replexao) นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายโทรโวดาในฐานะผู้สมัครอิสระได้รับชัยชนะ อย่างไรก็ตาม พรรค MLSTP-PSD ได้กลับมากุมอำนาจในการปกครองอีกครั้งในปี 2537 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รัฐสภามอบอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเองให้กับเกาะปรินซิปี
การทำรัฐประหาร ในปี 2538 เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีโทรวาดา ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากฝ่ายทหารได้รับการกดดันจากประเทศผู้ให้ จนต้องคืนอำนาจให้แก่นายโทรวาดา ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อในปี 2539 เป็นสมัยที่ 2 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2539-2540 เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ นำไปสู่การชุมนุมประท้วง
ในปี 2541 พรรค MLSTP-PSD ชนะการเลือกตั้งทั่วไป นาย Guilherme Posser da Costa ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2544 นาย Fradique de Menesez นักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในต้นเดือนกันยายน
เดือนมีนาคม ปี 2545 พรรค MLSTP-PSD ชนะการเลือกตั้งระดับสมาชิกสภาด้วยคะแนนเสียงที่ไม่แตกต่างมากนักจากพรรคคู่แข่ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประธานาธิบดี De Menezes ได้แต่งตั้งนาย Gabriel Costa ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลดังกล่าวได้ยุบไปในเดือนกันยายน และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยประธานาธิบดี De Menezes แต่งตั้งให้นาง Maria das Neves เป็นนายกรัฐมนตรี
วันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ฝ่ายทหารได้ทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ประธานาธิบดี De Menezes ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนไนจีเรียได้เจรจากับฝ่ายทหารจนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน และเดินทางกลับประเทศในสัปดาห์ต่อมา มีการประกาศนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มนายทหารที่ทำรัฐประหาร
เดือนกันยายน ปี 2547 ประธานาธิบดี De Menesez แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทนรัฐบาลของนาง Maria das Neves ซึ่งถูกขอให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อมา ในเดือนธันวาคม รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในภาคเศรษฐกิจดังกล่าว
ในเดือนพฤษภาคม 2548 นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง นาง Maria do Carmo Silveira ประธานธนาคารกลาง เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 7 ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนาย De Menesez)
ในการเลือกตั้งระดับสมาชิกสภาในเดือนมีนาคม 2549 มีการประท้วงของประชาชนในบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจนและสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรค Democratic Movement of Forces for Change (MDFM) ของประธานาธิบดี ได้รับชัยชนะ 23 เสียง จากทั้งหมด 55 ที่นั่งในรัฐสภา ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นาย Patrice Trovoada ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐบาลผสมจะถูกยุบลงหลังจากการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจของรัฐสภาในเดือนพฤษภาคม
1 =