มารยาทการให้ทิปในต่างประเทศ
มารยาทการให้ทิปในต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ไม่รู้ไม่ได้
คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เกิดความคุ้นชินเรื่อง “การให้ทิป” กันมากนัก เนื่องจากแต่เดิมนั้นในประเทศไทยตามธรรมเนียมแล้วไม่ได้มีการให้ทิปแต่อย่างใด แต่การให้ทิปในไทย ก็มีให้เห็นบ่อยมากขึ้นในยุคปัจจุบัน
แต่สำหรับคนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้ว มารยาทการให้ทิปจัดเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดี ก่อนเดินทางไปเยือนประเทศจุดหมายปลายทาง เนื่องจากมารยาทการให้ทิปของแต่ละประเทศนั้น มีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง
1.ประเทศสหรัฐอเมริกา
คนอเมริกันมีมุกตลกติดปากว่า “มีเพียงการยื่นจ่ายภาษีเท่านั้น ที่มีความสับสนมากกว่าการให้ทิป” ซึ่งประวัติการให้ทิปในสหรัฐฯ ถูกนำเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยชาวอเมริกันที่ร่ำรวยเริ่มเดินทางไปเยือนประเทศแถบยุโรป เดิมทีแล้วการให้ทิปยังไม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐฯ และยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยต่างบอกว่าเป็นการต่อต้านประชาธิปไตย ทั้งยังกล่าวกับคนให้ทิปอีกด้วยว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดชนชั้นแรงงาน ด้วยเงินจากการเอาอกเอาใจ
กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 21 ก็ยังมีคนถกเถียงกันเรื่องการให้ทิปกันอยู่ ทั้งขอดีและข้อเสีย แต่ในปัจจุบันนี้การให้ทิปได้กลายเป็นสิ่งสำคัญ ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของอเมริกันชนไปแล้ว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์นามว่าโอเฟอร์ อาซาร์ ได้ประเมินไว้ในปี 2007 ว่า ธุรกิจร้านอาหารแค่อย่างเดียว จะมีพนักงานบริการได้รับเงินจากทิปประมาณ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.37 ล้านล้านบาท
2.ประเทศจีน
จีนก็เหมือนกับหลายประเทศในเอเชีย ที่แต่เดิมแล้วไม่มีการให้ทิป และจีนก็ออกกฎห้ามมีการให้ทิปมานานเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่สำคัญยังถือว่าเป็นการติดสินบนอีกด้วย ส่งผลให้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ค่อยเห็นการให้ทิปในประเทศจีน ซึ่งบรรดาร้านอาหารที่มีลูกค้าเป็นคนจีน ลูกค้ามักจะไม่ให้ทิป ยกเว้นเป็นร้านอาหารที่บริการลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ส่วนโรงแรมที่พักหากมีแขกเป็นชาวต่างชาติ การให้ทิปกับคนช่วยถือกระเป๋าเท่านั้น ที่มองว่าเป็นเรื่องยอมรับได้ ส่วนที่เป็นข้อยกเว้นจริง ๆ เลยคือ การให้ทิปแก่ไกด์นำเที่ยวและคนขับรถบัสนำเที่ยว ที่สามารถทำได้
3.ประเทศญี่ปุ่น
ทางด้านสังคมญี่ปุ่นนั้น มองว่าการให้ทิปเนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ เช่น งานแต่งงาน, งานศพ, และโอกาสพิเศษอื่น ๆ ทว่าสถานการณ์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป การให้ทิปอาจทำให้ผู้รับรู้สึกว่าตนกำลังโดนดูถูก ซึ่งแนวคิดของคนญี่ปุ่นคือ “งานบริการที่ดีเป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” ถึงแม้จะมีการให้ทิปบ้างเป็นครั้งคราว
แต่การให้ทิปก็มีแนวทางปฏิบัติที่ต้องยึดถือ รวมถึงการนำเงินใส่ซองพิเศษ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความขอบคุณ โดยบุคลากรในโรงแรมของญี่ปุ่นและเกือบทุกที่ มักจะมีความสุภาพนอบน้อม และให้บริการตามความต้องการของแขกอย่างไม่รีรอ แต่ที่ญี่ปุ่นนั้น พนักงงานจะถูกฝึกให้ปฏิเสธการรับทิปอย่างสุภาพ
4.ประเทศฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้ร้านอาหารต่าง ๆ คิดค่าบริการเพิ่มไว้ในใบเสร็จ ในปี 1955 ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ตาม สำหรับการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการช่วยเพิ่มค่าแรงของพนักงานเสิร์ฟ และส่งผลให้พวกเขาพึ่งพาเงินจากการให้ทิปน้อยลง อย่างไรก็ตาม การให้ทิปในฝรั่งเศษ ก็ยังคงปฏิบัติต่อมากันเป็นธรรมเนียม ถึงแม้การสำรวจได้ค้นพบว่า คนรุ่นใหม่ในฝรั่งเศสไม่ค่อยให้ทิป โดยในปี 2014 มีลูกค้าชาวฝรั่งเศสประมาณ 15% ที่ออกมายอมรับว่า “ไม่เคยให้ทิป”ใดๆเลย
5.ประเทศอินเดีย
ที่อินเดียมีร้านอาหารจำนวนมากเรียกเก็บค่าบริการในใบเสร็จ จึงไม่จำเป็นต้องให้ทิปอีก แต่ก็ยังมีการให้ทิปอยู่ที่ราว ๆ 15-20% โดยร้านอาหารบางแห่งก็มีแสดงป้ายไม่รับทิปติดไว้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของอินเดีย จากผลสำรวจในปี 2015 ก็ค้นพบว่าชาวอินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการให้ทิปในระดับสูงสุด ตามหลังเพียงบังกลาเทศและไทยเท่านั้น
6.ประเทศสิงคโปร์
ถึงแม้การให้ทิปเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยตามโรงแรม, ร้านอาหาร, ไปจนถึงคนขับแท็กซี่ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของสิงคโปร์ แต่ก็ได้กลายมาเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสิงคโปร์ โดยเว็บไซต์ของรัฐบาลได้ออกมาระบุว่า “การให้ทิป ไม่ใช่วิถีชีวิตของคนในสิงคโปร์”
7.ประเทศอียิปต์
มารยาทการให้ทิปรู้จักกันในชื่อ “บักชีช” (baksheesh) ถือเป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันมาอย่างเหนียวแน่นในสังคมอียิปต์ ซึ่งบรรดาคนร่ำรวยในอียิปต์ มีการให้ทิปกับคนทำงานบริการทุกรูปแบบเป็นประจำ เช่น พนักงานเสิร์ฟ ไปจนถึงพนักงานปั๊มน้ำมัน สำหรับการให้ทิปนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้นอียิปต์ เนื่องจากที่อียิปต์มีอัตราการว่างงานสูงกว่า 10% รวมถึงการทำงานในภาคที่ไม่เกี่ยวกับทางการมีส่วนสำคัญต่อ GDP* เกือบ 40% เลยทีเดียว
*GDP (Gross Domestic Product) คือ รายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะสัญชาติใดก็ตาม
8.ประเทศรัสเซีย
ในช่วงสมัยที่รัสเซียยังเป็นโซเวียตอยู่นั้น การให้ทิปถือเป็นเรื่องต้องห้าม เนื่องจากเป็นการดูถูกชนชั้นแรงงาน แต่ชาวรัสเซียเองก็มีคำที่เรียกว่า “ค่าน้ำชา” (chayeviye) ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการให้ทิปแต่อย่างใด จนมาในช่วงทศวรรษ 2000 การให้ทิปก็ถูกยอมรับในรัสเซียไปโดยปริยาย ทว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงมองว่า การให้ทิปเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่.
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีการให้ความสำคัญในการให้ทิปที่แตกต่างกันมาก บางประเทศอาจมองเป็นเรื่องธรรมดา บางประเทศมองเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง แต่บางประเทศกลับมองว่าเป็นการดูถูกและแบ่งชนชั้น ดังนั้นรู้มารยาทการให้ทิปไว้ก่อนไปเที่ยวต่างประเทศก่อนจะดีกว่า อย่าลืมส่งต่อให้เพื่อนร่วมทริปของคุณด้วยล่ะ!
เที่ยวด้วยบัตรกิจกรรมที่น่าสนใจทั่วโลก จาก TraveliGo คลิก!
ให้ประกันการเดินทางช่วยดูแลคุณสำหรับทริปในต่างประเทศ คลิก!
#TraveliGo #อยู่ให้เป็น #การให้ทิปในต่างประเทศ