ประวัติศาสตร์ภาษาและวัฒนธรรมประเทศมอลโดวา

ประวัติศาสตร์ภาษาและวัฒนธรรมประเทศมอลโดวา

ในบรรดากลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มอลโดวาเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นอันดับที่สอง รองจากอาร์เมเนีย ในประวัติศาสตร์ มอลโดวาเป็นรัฐเล็กๆ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปรุตกับแม่น้ำนีสเตอร์ ซึ่งรู้จักกันในครั้งนั้นว่า เบสซาเรเบีย (Bessarabia) เคยอยู่ภายใต้การปกครองของโรมาเนีย ต่อมาถูกรุกรานและมีการเปลี่ยนแปลงเขตแดนบ่อยครั้ง จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐนี้จึงได้ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสหภาพโซเวียต

 

ในสมัยยุคกลาง ดินแดนส่วนใหญ่ของมอลโดวาที่ขณะนี้ถูกผนวกรวมกับโรมาเนียและยูเครน เคยอยู่ภายใต้การปกครองของฮังการีและลิทัวเนีย ในคริสตศวรรษที่ 16 ถูกตุรกีเข้ามาปกครอง และถูกผนวกรวมกับจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ. 1812 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามไครเมีย จักรวรรดิรัสเซียต้องเสียดินแดนส่วนหนึ่งของมอลโดวา (ทางใต้ของเบสซาเรเบีย) ให้โรมาเนีย แต่ก็ได้กลับคืนมาอีกครั้ง ในระหว่างการประชุมใหญ่เบอร์ลิน ใน ค.ศ. 1878 ต่อมาจักรวรรดิรัสเซียต้องเสียดินแดนเบสซาเรเบียให้โรมาเนียอีกครั้งในปี ค.ศ. 1918 และในปี ค.ศ. 1924 สหภาพโซเวียตได้จัดตั้งสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียขึ้นทางภาคตะวันออกของแม่น้ำนีสเตอร์ (ประชากรส่วนใหญ่เป็นมีเชื้อชาติยูเครน) และไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ของโรมาเนียเหนือดินแดนเบสซาเรเบีย ภายหลังจากการลงนามกติกาสัญญาโมโลตอฟ - ริบเบนทรอพ ในปี ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตได้ดินแดนเบสซาเรเบียกลับคืนมาและผนวกรวมกับสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียในปี ค.ศ. 1940 และเสียดินแดนส่วนใหญ่ของมอลโดวาให้โรมาเนียอีกครั้งเมื่อเยอรมันบุกสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 ยกเว้นทางด้านตะวันออกของแม่น้ำนีสเตอร์ ส่วนบริเวณทรานส์นีสเตรียซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำนีสเตอร์กับแม่น้ำบูก (Bug) ก็ถูกครอบครองโดยกองกำลังทหารของโรมาเนียที่เข้าไปสร้างความโหดร้ายให้แก่ชาวพื้นเมืองเป็นอย่างมาก ในขณะที่ชาวยิวและชาวยิบซีได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มอลโดวาก็กลับมาอยู่ภายใต้การครอบครองของสหภาพโซเวียตอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944

 

เขตแดนในปัจจุบันของมอลโดวาถูกกำหนดขึ้นในปี ค.ศ. 1947 เมื่อได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียอีกครั้ง และโรมาเนียยอมยกมอลโดวาให้สหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงมีการรื้อฟื้นการปกครองแบบโซเวียต และสาธารณรัฐมอลโดวาก็เข้าสู่กระบวนการแผลงให้เป็นรัสเซีย (Russiafication) อย่างเข้มงวด ทำให้ในระหว่างนั้น มอลโดวาถูกแยกออกจากการปกครองของโรมาเนียอย่างเด็ดขาด อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ผู้อพยพชาวยูเครนกับชาวรัสเซียเข้าไปตั้งถิ่นฐานในมอลโดวา โดยเฉพาะบริเวณเขตอุตสาหกรรมทรานส์นีสเตรีย

 

นโยบายแผลงให้เป็นรัสเซียในมอลโดวาดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองและเริ่มเบาบางลงเมื่อสหภาพโซเวียตมีนโยบายกลัสนอสต์ (Glasnost) ในปลายปี ค.ศ. 1986 และต่อมาในปี ค.ศ. 1989 กระบวนการแยกตัวเป็นเอกราชและการปฏิรูปประเทศของมอลโดวาก็เริ่มชัดเจนขึ้น โดยผลที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การที่รัฐบาลสหภาพโซเวียตต้องยอมให้ภาษามอลโดวาภาษาทางการแทนการใช้ภาษารัสเซีย

 

ภายหลังจากนาย Mircea Druc นักเศรษฐศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1990 นาย Druc ได้ริเริ่มแผนปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมือง จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 รัฐสภามอลโดวาได้ออกเสียงที่จะให้มีการประกาศเอกราชและการร่างรัฐธรรมนูญ จนในที่สุดมอลโดวาก็ได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากมอลโดวาและจัดตั้งกองกำลังแห่งชาติมอลโดว่าขึ้นมาแทน

 

ภาษาราชการ ภาษามอลโดวา (Moldovan language : ภาษาเดียวกับภาษาโรมาเนีย ในตระกูลโรมานซ์ Italic) ภาษารัสเซีย และ gagauz (ภาษาถิ่นตุรกี)

แสดงแผนที่
แสดงแผนที่
อัตราแลกเปลี่ยน   to

  1 =