ตามรอย 11 โครงการในพระราชดำริ น่าเที่ยว น่ารู้
จากน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่สู่แนวพระราชดำริเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร ทุกโครงการเปิดให้เราสามารถเข้าชมได้ทุกวัน เพื่อรับรู้ถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ได้ทรงดำริและสร้างไว้เพื่อปวงชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้จดจำ และนำแนวพระราชดำริต่างๆไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ ให้เป็นประโยชน์ที่ทรงคุณค่าและยั่งยืนที่สุด
ความใกล้ความไกลไม่ใช่อุปสรรคของพระองค์เลยแม้แต่น้อย ไม่ผิดเลยหากเราจะบอกว่าท่านทรงก้าวเหยียบไปทั่วผืนแผ่นดินไทยมาแล้ว
โดยวันนี้เราจะแนะนำโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆด้วยการเรียงตามระยะทางการเดินทางจากเมืองหลวงกันค่ะ
1. เขื่อนขุนด่านปราการชล (เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก) -- 115 กม.
เขื่อนคอนกรีตบดอัดยาวที่สุดในโลกแห่งนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยจัดสรรทรัพยากรน้ำให้แก่ชาวนครนายกและจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ด้วยความยาวของเขื่อนที่มีมากถึง 2,594 เมตร สูง 93 เมตร และจุน้ำได้ 224 ลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชลจึงมีคุณประโยชน์นานัปการและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวนครนายกภาคภูมิใจเป็นที่สุด บริเวณด้านหน้าเขื่อน คุณจะได้รื่นรมย์กับทิวทัศน์ของทะเลสาบกลางผืนป่าสีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ ส่วนด้านหลังเขื่อนคือถิ่นอาศัยของชาวบ้านที่จะทำให้เพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของพวกเขา
นอกจากนี้บริเวณเขื่อนยังมีกิจกรรมอีกมากมายให้เลือกตามใจชอบ อาทิเช่น ล่องแก่งลำน้ำนครนายกที่สามารถเล่นได้ตลอดทั้งปี ชมพันธุ์ไม้นานาชนิด พร้อมกับเรียนรู้เรื่อง การสร้างเขื่อนภายในพิพิธภัณฑ์ขุนด่านปราการชลตลอดจนชมอาคารที่ประทับเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา
เปิดให้เข้าชมเวลา 09.00-17.00 น.
สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 3738 4334, 0 3738 4208-9
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย (จังหวัดเพชรบุรี) – 154 กม.
โครงการตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน โดยยึดหลักการ “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ซึ่งไม่เพียงทุกคนจะได้รับความรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้องแล้วยังจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ในป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยสรรพชีวิตและเรื่องเล่าที่น่าประทับใจ
กิจกรรมน่าทำ
• เดินชมป่าชายเลนบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 850 เมตร สองข้างทางจะได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติของป่าโกงกาง ต้นแสม ปลาตีน ปูแสม ปูก้ามดาบ นกนานาชนิด ซึ่งแหลมผักเบี้ยนั้นได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 แหล่งดูนกที่ดีที่สุดของเมืองไทย
• ชมแหลมทรายทอดตัวยาวประมาณ 3 กิโลเมตรซึ่งกั้นระหว่างหาดโคลนกับหาดทราย จนได้ชื่อว่าเป็นทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยตอนบน
• เยี่ยมชมหอภูมิทัศนาที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาของยอดโกงกางและต้นแสม ระหว่างทางอาจได้ยินเสียง “กุ้งดีดขัน” อันเป็นกริยาของกุ้งเวลาดีดตัวเพื่อเคลื่อนที่ไปในโคลน
• แวะซื้อของที่ระลึกของโครงการฯ เช่น เสื้อยืด หมวกสาน ผลไม้อบแห้ง โปสต์การ์ด หรือจะเลือกซื้องานสานจากหญ้าธูปฤาษีฝีมือกลุ่มแม่บ้านที่นำมาจำหน่าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0 3244 1264-5 หรือเว็บไซต์ www.lerd.org
เดินทางอย่างไร
โดยรถยนต์ : จากตัวเมืองเพชรบุรีใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3177 ตรงไประยะทางประมาณ 15 กม. สู่หาดเจ้าสำราญราว 1 กม. จะมีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายขับตรงไปประมาณ 6 กม.
2. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี) – 160 กม.
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า...เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทยด้วยความยาวทั้งสิ้น 4,860 เมตร สร้างขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน เขื่อนแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่กักเก็บน้ำแล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรีอีกด้วย โดยกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของการมาเที่ยวที่นี่คือ การนั่งรถรางไปตามแนวสันเขื่อนด้วยระยะทางไป – กลับกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับลมเย็นสบายพร้อมชมทัศนียภาพอันงดงามบริเวณอ่างเก็บน้ำซึ่งกิจกรรมที่ว่านี้จะมีเฉพาะวันหยุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากมาเยือนในวันธรรมดา คุณสามารถขึ้นไปยังชั้นบนสุดของหอคอยเฉลิมพระเกียรติเพื่อชมทัศนียภาพอันงดงามของเมืองลพบุรี ได้รอบทิศแบบ 360 องศาเลยทีเดียวหรือจะแวะไปชมพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสักซึ่งจัดแสดงความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่นก็ยังได้ ที่สำคัญอย่าพลาดแวะไปกราบไหว้พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย (หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก) พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีขาวที่ประดิษฐานอยู่บริเวณท้ายเขื่อน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3649 4031 – 4
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.pasakdam.com
เดินทางอย่างไร
โดยรถยนต์ : จากตัวเมืองลพบุรีใช้เส้นทางหมายเลข 3017 ลพบุรี-โคกตูม-พัฒนานิคม ระยะทางประมาณ 48 กม.
โดยทางอื่น : จากตัวเมืองลพบุรีมาตามเส้นทางหมายเลข 3017 (พัฒนานิคม-วังม่วง) ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ถึง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ (อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี) – 206 กม.
เรียนรู้แนวคิดอันยิ่งใหญ่จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งผาก หวนคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการฯ นี้เดิมที่ดินบริเวณนี้มีความแห้งแล้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวน 250 ไร่ สำหรับเพาะปลูกพืชทำเป็นโครงการตามพระราชดำริเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรและได้มีชาวบ้านนำมันเทศ
ที่ปลูกมาทูลเกล้าฯ ถวายจึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกแปลงทดลองมันเทศในที่ดินส่วนนี้ แต่เมื่อเสด็จกลับมิได้ทรงนำมันหัวนั้นไปด้วย ครั้นพระองค์เสด็จฯ กลับมาอีกครั้งทรงพบว่ามันหัวนั้นงอกเป็นต้น จึงมีพระราชดำรัสว่า “มันอยู่ที่ไหนก็งอกได้” จึงมีพระราชดำริให้จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยเน้นที่พืชท้องถิ่นของเพชรบุรี เช่น มะพร้าว ชมพู่เพชร มะนาว กะเพรา สับปะรด ข้าวไร่พันธุ์ต่างๆ และทรงมีพระราชดำริให้ปลูกแปลงทดลองมันเทศในที่ดิน ทั้งยังทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือเพื่อใช้ในโครงการอีกด้วย โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรยั่งยืน รวมถึงเรื่องราวพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านที่มีต่อชาวไทยทุกคน
รู้ก่อนเที่ยว
• ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ โทร. 0 3247 2700-1
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี) – 232 กม.
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เพื่อศึกษาค้นคว้าและวิจัยเรื่องระบบนิเวศทางธรรมชาติ ในการหาแนวทางที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี และเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อเกิดความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน และรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่โดยรอบ และมีกิจกรรมที่น่าสนใจภายในศูนย์มากมาย เช่น
• เดินป่าศึกษาธรรมชาติไปตามสะพานไม้ที่ทอดตัวยาวสู่ใจกลางของป่าชายเลนในระยะทาง 1,600 เมตร มีศาลาพักเป็นระยะ และมีการแสดงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน พร้อมชมสัตว์ชายเลนนานาชนิด เช่น ปลาตีน ปูแสม ฯลฯ สะพานไม้แห่งนี้ มีปลายทางอยู่ที่ศาลาชมวิวซึ่งยื่นล้ำออกไปกลางอ่าว เป็นจุดที่มองเห็นทัศนียภาพของป่าชายเลนขนานไปกับท้องทะเลที่สวยงาม
• ศูนย์เพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน สำหรับผู้สนใจและต้องการศึกษา
ที่ตั้ง : ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 22120
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าสู่จังหวัดจันทบุรี ถึงช่วงกิโลเมตรที่ 301-302 ให้เลี้ยวขวาที่แยกหนองสีงา ไปต่อตามเส้นทางหลักอีกประมาณ 27 กิโลเมตร เมื่อถึงทางแยกที่ตัดกับทางไปคุ้งวิมาน ให้เลี้ยวซ้ายตรงไป จะพบป้ายบอกทางไปศูนย์ฯ อยู่ตลอดทาง
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 0 3936 9216-8
เว็บไซต์ : http://www.fisheries.go.th/cf-kung_krabaen/
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี (ปากน้ำปราณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) – 242 กม.
เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า - คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ.2524-2539 ป่าผืนนี้ฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จฯ ปราณบุรี ปี พ.ศ.2539 กรมป่าไม้สนองพระราชดำริ ด้วยการยกเลิกสัมปทานและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งยังดำเนินการฟื้นฟูป่าด้วยการกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายปลูกป่า (Forest Plantation Targer- FPT) ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2539 ซึ่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ในเวลาต่อมา
พบกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอันร่มรื่น นิทรรศการป่าชายเลน และ วิถีชีวิตคนปากน้ำปราณ หอชะคราม (หอชมวิว) ที่สามารถมองเห็นได้ทั่วทั้งบริเวณศูนย์เปิดให้บริการทุกวัน 08.30. - 16.00 น.
สำหรับหมู่คณะที่ต้องการเยี่ยมติดต่อได้ที่ 032-632255 หรือ 08-6607-7712 (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า – 445 กม.
อุทยานแห่งชาติที่วางตัวอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด ในอดีตนั้นเคยเป็นสมรภูมิรบอันยิ่งใหญ่ที่ถูกจารึก ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่มีวันลืมเลือน แม้ควันไฟแห่งสงครามได้จางหายไป เหลือเพียงความสงบ ร่มรื่น และความสวยงามของธรรมชาติป่าเขา แต่พอเอ่ยถึงภูหินร่องกล้าขึ้นมาเมื่อไหร่ ภาพแห่งอดีตมักฉายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า อุทยานฯ แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 191,875 ไร่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2527 โดยภูหินร่องกล้ามียอดเขาสูง 1,617 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่มาพร้อมกับทิวทัศน์สวยงาม ซึ่งปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขาที่มีสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกัน นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้ดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน
อดีตที่ไม่มีวันลืม : ครั้งหนึ่งในอดีต ภูหินร่องกล้าเคยเป็นศูนย์กลางที่ตั้งฐานที่มั่นการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภาคเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแพร่กระจายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่เขาค้อ ภูขัด และภูเมี่ยง จนก่อเกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมือง ครั้นเมื่อเหตุการณ์สงบลงในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2525 ได้มีการตัดเส้นทางผ่านใจกลางภูหินร่องกล้าและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขึ้น จนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบัน
ไฮไลท์ในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
• พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวการใช้ชีวิต และการสู้รบของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้อาวุธต่าง ๆ
• ทางเดินโลกที่สาม เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่านภูมิทัศน์สวยงาม ตลอดจนสถานที่สำคัญของ พคท. ได้แก่ สำนักอำนาจรัฐ เป็นสถานที่ดำเนินการทางการปกครองพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด คุกสำหรับคุมขัง สถานที่ทอผ้าและโรงซ่อมเครื่องจักรกล ที่หลบภัยทางอากาศซึ่งเป็นโพรงถ้ำกว้างขวางจุคนได้กว่า 200 คน
• ผาชูธง เป็นจุดที่คอมมิวนิสต์ชักธงแดงทุกครั้งที่รบชนะ
• ลานหินปุ่ม ลานหินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพราะเต็มไปด้วยหินปุ่มตะป่ำเป็นบริเวณกว้างดูแปลกตา ที่นี่เกิดจากการสึกกร่อนของหินโดยธรรมชาติ
• โรงเรียนการเมือง การทหาร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 6 กิโลเมตร เคยใช้เป็นสถานที่ให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ มีบ้านพักฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ และสถานพยาบาล กระจายตัวอยู่ใต้ร่มไม้แน่นทึบ ประมาณ 30 หลัง ในบริเวณใกล้เคียงยังมีสุสานทหาร และกังหันน้ำสำหรับสีข้าว
• น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร ห่างจากโรงเรียนการเมืองประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตกร่มเกล้าก่อน จากนั้นเดินลงไปประมาณ 200 เมตร จะพบกับน้ำตกภราดรที่เกิดจากลำธารเดียวกัน
• ลานหินแตก เป็นลานหินกว้างมีรอยแตกคล้ายแผ่นดินแยก ซึ่งตามซอกหินพบไม้ประเภทมอสส์ ไลเคน เฟิร์น และกล้วยไม้จำนวนมาก
• น้ำตกศรีพัชรินทร์ ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับทหารจากค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกสายนี้มีความสูงประมาณ 20 เมตร และมีแอ่งใหญ่ที่เหมาะสำหรับเล่นน้ำ
• น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกที่มีชั้นต่างๆ รวม 32 ชั้นอันเกิดจากห้วยน้ำหมันซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ที่นี่อยู่บนเส้นทางสายภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า กม. 18 มีทางเดินเท้าเข้าสู่น้ำตกอีก 3.5 กิโลเมตร
ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย
ค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ : คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท ในอุทยานฯ มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งแบบเต็นท์และบ้านพัก
ติดต่ออุยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า : โทร. 0 5523 3527 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯโทร. 0 2562 0760
www.dnp.go.th หรือเว็บไซต์ www.phuhinrongkla.in.th
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) – 687 กม.
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวางในปี พ.ศ.2523 แล้วทอดพระเนตรเห็นท้องทุ่งบริเวณนี้มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี แก่เกษตรกรบนที่สูง และเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นักท่องเที่ยวที่มาเยือนศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จะได้สนุกไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เต็มไปด้วยแปลงไม้ผลเมืองหนาวนานาชนิดให้ชื่นชม
กิจกรรมน่าทำ
· ชมความสวยงามแห่งแปลงไม้ผลเมืองหนาวที่จะพากันออกดอกบานสะพรั่งดูสดใส ไม่ว่าจะเป็นสาลี่ พลัม ท้อ แนคตารีน หรือสตรอว์เบอร์รี่ หรือเดินชมศึกษาแปลงทดลองการเกษตรภายในศูนย์ฯ ที่จะมีเจ้าหน้าที่นำชมตามเส้นทางที่กำหนดโดยมีจุดน่าสนใจต่างๆ ได้แก่ แปลงไม้ผลเมืองหนาว แปลงกาแฟ โรงกะเทาะเปลือกกาแฟ และแปลงทดสอบพันธุ์แมคคาเดเมีย
· สัมผัสความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอย ที่พากันออกดอกสีชมพูสว่างไสวเต็มต้น ขับให้ดอยขุนวางกลายเป็นสีชมพูไปทั้งดอย ในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะกลางเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
· สนุกกับการดูนกที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เนื่องจากศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาดอยอินทนนท์ อันเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญของเมืองไทย
สิ่งอำนวยความสะดวก
ศูนย์ฯ มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4 หลัง แต่ละหลังพักได้ตั้งแต่ 4-8 คน มีลานกางเต็นท์ 2 จุด คือ บริเวณลานหญ้าหน้าอาคารสำนักงาน และบริเวณหุบรับเสด็จ ทั้งสองจุดรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน นอกจากนี้ยังมีอาหารบริการในราคากันเอง และกาแฟอาราบิกาให้ชิมฟรีตลอดทั้งวัน
ที่ตั้ง : ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ ห่างจากถนนสายหลักลึกเข้ามาถึง 16 กม. ทำให้การเดินทางมาที่นี่ควรใช้พาหนะส่วนตัว หรือเหมารถจากปากทางของดอยอินทนนท์เพื่อเข้ามาที่นี่ ที่นี่เปิดทำการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.
สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 5311 4133, 0 5311 4136
เดินทางอย่างไร
โดยรถยนต์ : นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง เส้นทางแรก จากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอสันป่าตอง เข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1013 ไปอำเภอแม่วาง ผ่านอำเภอแม่วางไป จะมีทางแยกซ้ายมือให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นเส้นทางจะลัดเลาะขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ช่วงสุดท้ายของเส้นทางนี้จะเป็นถนนดินแดงประมาณ 5 กิโลเมตร หน้าฝนจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เส้นทางนี้รวมระยะทาง 86 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมง เส้นทางที่สอง จากจังหวัดเชียงใหม่ไปอำเภอจอมทองก่อนเข้าตัวอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1009 ขึ้นดอยอินทนนท์ จนถึงกิโลเมตรที่ 31 เลี้ยวขวา เป็นถนนลาดยางไปประมาณ 17 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ตั้งศูนย์วิจัยเกษตรหลวงดอยขุนวาง รวมระยะทาง 115 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
โดยรถประจำทาง : จากประตูเชียงใหม่ มาถึงจอมทอง จากนั้นต้องต่อรถสองแถวจากจอมทอง-แม่แจ่ม ลงตรงทางแยกขึ้นดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตร 31 จากจุดนี้ต้องเหมารถสองแถวให้ขึ้นไปส่งที่ขุนวาง หรือเหมารถตั้งแต่ที่อำเภอจอมทอง
สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง (จังหวัดเชียงใหม่) – 697 กม.
พบกับความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลนานาชนิดที่พากันสลับผลัดเปลี่ยนกันออกดอกออกผลตลอดทั้งปี อีกทั้งในช่วงต้นเดือนถึงปลายเดือนมกราคมของทุกปี คุณยังจะได้ชมดอกพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย ที่พากันบานสะพรั่งแรระบายทั่วบริเวณให้กลายเป็นสีชมพูสวยงาม โดยการท่องเที่ยวในสถานีทดลองเกษตร ที่สูงแม่จอนหลวงนั้น มีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายจุดด้วยกัน ดังนี้
· จุดแรกเป็นศูนย์บริการข้อมูล ที่คุณสามารถเข้าชมนิทรรศการและวีดิทัศน์เพื่อรับทราบข้อมูลโดยคร่าวๆ เกี่ยวกับทางสถานีได้
· จุดที่สอง อยู่ห่างจากจุดแรกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เต็มไปด้วยแปลงสาลี่ โดยสาลี่ที่ปลูกกันโดยทั่วไปนั้นมี 2 ประเภท คือ สาลี่ฝรั่งและสาลี่จีน
· จุดที่สาม เป็นแปลงไม้ดอกเมืองหนาว เช่น เยอบีร่า สะแตติส พิทูเนีย
· จุดที่สี่ เป็นแปลงสตรอว์เบอร์รี่และแปลงพืชผักปลอดสารพิษ ถ้ามาเยือนในช่วงต้นปีราวเดือน มกราคมถึงมีนาคม จะสามารถเด็ดชิมสตรอว์เบอร์รี่ในแปลงทดลองนี้ได้เลย
จุดสุดท้าย คือ แปลงวิจัยชา คุณจะได้ชมกระบวนการแปรรูปชา และอาจโชคดีได้ลองชิมยำใบชาสูตรพิเศษ ที่จะหาชิมได้ที่นี่แห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีแปลงทดสอบพันธุ์มะคาเดเมียนัท แปลงทดสอบพันธุ์เสาวรส แปลงเกาลัดจีน
สิ่งอำนวยความสะดวก
สถานีนี้มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว แบ่งเป็นเรือนพักชายและหญิง 2 หลัง นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำหรับ ประกอบอาหาร และมีเรือนรับรองหลังใหญ่ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 40-50 คน อีกทั้งมีจุดชมวิวที่สามารถกางเต็นท์ได้สองจุด รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน สำหรับเรื่องอาหารนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเตรียมมาเอง หรือแจ้งล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่ของทางสถานีเพื่อให้จัดเตรียมให้ก็ได้
ที่ตั้ง : หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 5311 4133, 0 5311 4136 สำหรับการเดินทาง สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง ดังนี้
เส้นทางแรก : ออกจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ไปบนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอจอมทองเลี้ยวขวาขึ้นดอยอินทนนท์ เมื่อถึง กม.ที่ 31 เลี้ยวขวาผ่านศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ผ่านทางลาดยางประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ให้เลี้ยวซ้ายผ่านศูนย์ขุนวางไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านทางดินลูกรังจึงถึงสถานีเกษตรที่สูงแม่จอนหลวงรวมระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ถึง 3 ชั่วโมง
เส้นทางที่ 2 : จากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอสันป่าตอง แยกขวาที่สันป่าตองเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1013 ไปอำเภอแม่วาง เมื่อผ่านอำเภอแม่วางไปจะมีทางแยกซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นเส้นทางจะลัดเลาะขึ้นภูเขา ผ่านบ้านหนองเต่า บ้านป่ากล้วย บ้านโป่งลมแรง แล้วเลี้ยวขวาไปอีก 9 กิโลเมตรจึงถึงสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง (เส้นทางระหว่างบ้านหนองเต่าจนถึงสถานียัง เป็นทางดินลูกรังราว 15 กิโลเมตร) ระยะทางรวม 92 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ / ป่าสนบ้านวัดจันทร์ (อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่) – 812 กม.
ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยในที่ดอน เส้นทางคมนาคมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์ และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ตำบลวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 900-1,200 เมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสนละป่าเต็งรัง ทิศเหนือและทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 19 องศาเซลเซียส
การเดินทาง
โดยรถส่วนตัว : จากตัวเมืองเชียงใหม่สามารถเดินทางไปยังศูนย์ฯ วัดจันทร์ ได้สองเส้นทางคือ เส้นทางเชียงใหม่ ผ่านตลาดแม่มาลัย ไปทาง อำเภอปาย แล้วเลี้ยวซ้าย สาย ปาย-วัดจันทร์ ระยะทาง 157 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง อีกเส้นทาง จากเมืองเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางแม่ริม แล้วต่อยังอำเภอสะเมิง ผ่านทางอำเภอสะเมิง -วัดจันทร์ ระยะทาง 154 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
มีรถประจำทางผ่าน สามารถโดยสารรถประจำทางได้เป็นรถสองแถวสีเหลือง คิวรถบ้านวัดจันทร์อยู่ที่ถนนช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ รถออกทุกวัน เวลา 09.00 และ 11.00 น. ค่าโดยสาร 120 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง รถจะวิ่งเส้นสะเมิง
ติดต่อสอบถาม 053 249 349
และหากได้ไปเยือนโครงการหลวงแล้ว ไม่ควรพลาดแหล่งท่องเที่ยวข้างๆกัน คุณจะได้เห็นภาพอันสวยงามของป่าเปลี่ยนสีแห่งบ้านวัดจันทร์ ได้สร้างความฮือฮาในหมู่นักท่องเที่ยวจนที่นี่ได้รับยกย่อง ให้เป็นหนึ่งใน “Dream Destination” ที่หากคุณได้ไปสัมผัสเมื่อไหร่ ต้องตกหลุมรักเมืองไทยเมื่อนั้น และด้วยเหตุที่บ้านวัดจันทร์นั้นเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงมูเส่คี (ซึ่งมีความหมายว่า ต้นน้ำแม่แจ่ม) ที่ดำรงชีพอยู่กับผืนป่าแห่งนี้มานานนับร้อยปี และช่วยกันดูแลรักษาที่นี่อย่างดีราวกับว่าผืนป่าคือส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยความเชื่อว่าเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ครั้งใด ชาวกะเหรี่ยงจะนำสายสะดือไปผูกไว้กับไม้ต้นนั้น เพื่อกำหนดว่านี่คือต้นไม้ของครอบครัว ใครก็ไม่สามารถตัดได้ ดังนั้นป่าสนวัดจันทร์จึงยังคงความบริสุทธิ์ หนาแน่น และอุดมสมบูรณ์ โดยต้นสนที่นี่ส่วนใหญ่มีทั้งสนสองใบและสนสามใบซึ่งจะเติบโตได้ดีเฉพาะในที่สูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไปเท่านั้น และความงามนี้จะปรากฏชัดในช่วงฤดูหนาวที่สายลมเย็นพัดผ่าน ป่าสนวัดจันทร์จะกลายเป็นความรื่นรมย์ของนักเดินทางที่ทุกคนสามารถทำกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินได้มากมาย อาทิเช่น ปั่นจักรยาน พายเรือยางในทะเลสาบ สูดอากาศสดชื่น และเป็นความสุขที่พบเจอไม่บ่อยครั้งนักในชีวิตเมือง
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางมีหลายเส้นทางให้เลือก เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่มาลัย-ปาย เลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 40 กิโลเมตร โดยตามป้ายทางหลวงประมาณ 80 กิโลเมตร จากแม่มาลัย เมื่อถึงทางเข้าตรงวัดพระธาตุ อยู่ถัดจากวัดพระธาตุมาประมาณ 500 เมตร แยกซ้ายเข้าตรงโค้งเล็กๆ แยกเข้าเส้นทาง จอมแจ้ง - บ้านเมืองแร่ – บ้านบ่อแร่ รวมระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่ง คือ สายสะเมิง-วัดจันทร์-บ้านบ่อแก้ว-บ้านดงสามหมื่น เส้นทางนี้จะมีรถประจำทางสองแถวสีเหลืองจากอำเภอเมือง รถออกทุกวัน เวลา 09.00 และ 11.00 น. ค่าโดยสาร 120 บาท จะเป็นทางลูกรังเช่นกันระยะทาง 80 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร สามารถติดต่อบ้านพักได้ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บ้านวัดจันทร์ โทร. 0 5324 9394
เดินทางอย่างไร
โดยรถยนต์ : การเดินทางมีหลายเส้นทางให้เลือกแต่ไม่ว่าจะใช้ทางใดก็ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น หากมาในช่วงฤดูหนาว จะพบใบไม้เปลี่ยนสีในป่าสองข้างทาง เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือ ทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่มาลัย-ปาย สามารถเข้าได้สองทางซึ่งทั้งสองเส้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 40 กิโลเมตร คือ 1) ตามป้ายทางหลวง ประมาณ 80 กิโลเมตร จากแม่มาลัย หรือ 2 ) ทางเข้าตรงวัดพระธาตุ อยู่ถัดจากวัดพระธาตุมาประมาณ 500 เมตรแยกซ้ายเข้าตรงโค้งเล็ก ๆ แยกเข้าเส้นทาง จอมแจ้ง - บ้านเมืองแร่ – บ้านบ่อแร่ รวมระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร
เส้นทางอื่น ๆ คือ สายสะเมิง-วัดจันทร์-บ้านบ่อแก้ว-บ้านดงสามหมื่น เป็นทางลูกรังเช่นกันระยะทาง 80กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร อีกสองเส้นทางที่ลำบากกว่าสองทางแรกคือ อำเภอแม่แจ่ม-บ้านวัดจันทร์ และ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน-บ้านวัดจันทร์ เส้นทางหลังจะมีความงามมาก
โดยทางอื่น : สามารถโดยสารรถประจำทางได้เป็นรถสองแถวสีเหลือง คิวรถบ้านวัดจันทร์อยู่ที่ถนนช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ รถออกทุกวัน เวลา 09.00 และ 11.00 น. ค่าโดยสาร 120 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง รถจะวิ่งเส้นสะเมิง
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) – 922 กม.
ภาพทิวสนสองใบและสนสามใบเรียงรายตลอดแนวอ่างเก็บน้ำอันกว้างใหญ่กลางอ้อมกอดของขุนเขาเขียวชอุ่มยามเช้า คือมนต์เสน่ห์ของปางอุ๋งที่นำพานักเดินทางเข้ามาเยือนที่นี่อยู่ตลอดทั้งปี ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่มีสายหมอกขาวลอยเหนือผืนน้ำ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศโรแมนติกให้กับปางอุ๋ง อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา และมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่เสมอ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรบริเวณนั้นพร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน ปัจจุบันปางอุ๋งได้กลายมาเป็นแหล่งปลูกพืชที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย อีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสดมีการปลูกสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ในด้านอาหารและแพทย์แผนไทยซึ่งกลมกลืนกับพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น และสุดท้ายคือบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์ประจำถิ่นซึ่งกำลังจะสูญพันธ์อย่างเขียดแลว นอกจากกิจกรรมชมธรรมชาติ ยามเช้าของปางอุ๋งแล้ว นักท่องเที่ยวยังนิยมล่องแพชมทัศนียภาพในทะเลสาบที่มีหงส์ดำและหงส์ขาวอย่างละ 1 คู่ ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ มาเติมความงดงามให้ปางอุ๋งติดตรึงอยู่ในหัวใจ นักท่องเที่ยวไปตราบนานแสนนาน
ทิปส์ท่องเที่ยว
• ปางอุ๋งเปิดให้เข้าพื้นที่ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00 - 20.00 น.
• นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมต้องลงทะเบียน ผ่านศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 1244, 08 5618 3303 โทรสาร 0 5361 1649 จึงจะสามารถนำรถเข้าปางอุ๋งได้ ถึงแม้จะมีบัตรค้างแรมแต่ก็นำรถเข้าออกพื้นที่ได้ระหว่าง เวลา 09.00 - 18.00 น. เท่านั้น
ที่พักบนปางอุ๋ง จะมีเครื่องปั่นกระแสไฟให้ใช้เฉพาะช่วงเวลา 18.00 - 22.00 น. เท่านั้น นักท่องเที่ยวควรเตรียมไฟฉายและแบตเตอรีสำรองให้เพียงพอต่อการใช้งาน
• นักท่องเที่ยวที่ไม่พักค้างแรม ไม่ต้องรับบัตรผ่าน แต่ไม่สามารถนำรถส่วนตัวขึ้นไปได้ แต่สามารถจอดรถและขึ้นรถโดยสารได้ที่บ้านนาป่าแปก จากบ้านนาป่าแปกไปปางอุ๋ง รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลา 15 นาที มีบริการรถสองแถวทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00 - 18.00 น.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ททท.